Latest Movie :
.

TITANIC : ไททานิค

TITANIC : ไททานิค


เข้าฉาย         :   November 1’ 1997
กำกับโดย      :   James Cameron
นำแสดง        :   Leonardo Dicaprio, Kate Winslet, Billy Zane, Kathy Bates, Frances Fisher, Bernard Hill, Jonathan Hyde, Danny Nucci, David Warner, Bill Paxton
รายได้           :   Box Office = $2,186,772,302 (ทุนสร้าง = $200,000,000 )
ประเภท        :   Drama / Historical / Romance / Base on True Story
ความยาว       :   194 minutes





ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องจริงแห่งโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ 
เป็นที่จดจำ และกล่าวขานอย่างมากมาย และยาวนานกว่า 102 ปี ของโลก


เจมส์ คาเมรอน ประกาศสร้าง ภาพยนตร์ TITANIC”

ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ยังคงหลงเหลือให้ติดตามจากอดีต จนในปี 1997 ผู้กำกับฝีมือดีอย่าง James Cameron ได้ประกาศว่าจะจับประวัติศาสตร์เรื่องนี้ให้มาโลดแล่นอยู่บนแผ่นฟิล์ม โดยอยู่ในการควบคุมและลงทุนในการสร้างระหว่าง 2 สตูดิโอยักษ์ใหญ่คือ 20 Century Fox และ Paramount Picture โดยสรุปแล้วทุนสร้างที่สร้างสรรค์อภิมหาโปรเจ็กต์ชั้นเยี่ยมยอดเรื่องนี้หมดไปประมาณ 200 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ


ซึ่งในตอนนั้น จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด นี่ยังไม่รวมที่สตูดิโอต้องลงงบการสร้างข่าว และงบโปรโมตที่ต้องโหมกระหน่ำมาก ๆ ถึงจะทำให้หนังเป็นประวัติการณ์ขึ้นมาได้ ทำให้เกิดข่าวหนาหูว่าหนังจะต้องเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของฮอลลี้วู้ดแน่ ๆ บรรดานักวิจารณ์หลาย ๆ สถาบันต่างมองว่าจะต้องเป็นความอัปยศ อดสู ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของคาเมรอนเลยทีเดียว หลังจากสร้างหนังฮิตให้ตัวเองในอดีตอย่าง Aliens หรือ Terminator 2 : Judgement Day และ True Lies ล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น การสร้างภาพยนตร์เรื่องไททานิค จึงถือเป็นงานหินมาก ๆ สำหรับคาเมรอนในตอนนั้น เพราะโดนปรามาท (สบประมาท) ไว้เยอะ


หลังจากภาพยนตร์ไททานิค (TITANIC) ออกฉายในปี ค.ศ. 1997 เจมส์ คาเมรอน ได้พิสูจน์ฝีไม้ลายมือโดยลบคำสบประมาทลงได้อย่างสิ้นเชิง เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด และสร้างประวัติศาสตร์ครองแชมป์ทำรายได้ Box Office สูงสุดอันดับที่ 1 มานานถึง 12 ปี ด้วยมูลค่ามากถึง 1,848,813,795 ดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2010 ภาพยนตร์เรื่อง "อวตาร (Avartar)" โดยฝีมือผู้กำกับคนเดียวกันนี้ เจมส์ คาเมรอน ทำลายสถิติรายได้สูงสุดแทนที่ไททานิค


ปัจจุบันเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในอันดับที่ 2

ไททานิค TITANIC ได้รับรางวัลระดับแนวหน้าของโลกจำนวนมาก โดยคว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาได้ถึง 4 สาขา  และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 14 สาขา โดยสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาได้ถึง 11 รางวัล สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ซึ่งมีอีก 2 เรื่องที่ทำได้เท่ากันคือ เบนเฮอร์ (BENHUR) และเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง - มหาสงครามชิงพิภพ (The Lord of The Ring : The Return of The King)


ชนะเลิศรางวัลออสการ์  11 สาขา ได้แก่
1.   * สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
2.   * สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม
3.   * สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม
4.   * สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
5.   * สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม
6.   * สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม
7.   * สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม
8.   * สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม
9.   * สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
10. * สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
11. * สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม



ชนะเลิศรางวัลลูกโลกทองคำ  4 สาขา ได้แก่
1.   * สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดราม่า 
2.   * สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม
3.   * สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
4.   * สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม



Trailers



      


     ภาพยนตร์เรื่อง "TITANIC" ของเจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ได้หยิบยกชะตากรรมของเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มาสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ทุ่มทุนสร้างมหาศาลเป็นประวัติกาล เป็นผลงานรักหวานซึ้งที่เต็มไปด้วย ฉากแอ็คชั่น ตื่นตาตื่นใจ โดยอาศัย โศกนาฏกรรมในการเดินทะเล ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ของเรือเดินสมุทร RMS TITANIC เรือกลไฟ ลำมหึมา ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น เป็นสุดยอดความภาคภูมิ และรื่นเริงบันเทิงใจ ของบริษัท เรือเดินทะเล White Star Line ซึ่งต้องยกให้ เป็นพาหนะ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างกัน ในยุคนั้นเรือลำนี้ได้ชื่อว่าเป็นเรือเดินทะเล ที่หรูหราที่สุดแห่งยุคนั้น และเป็น "เรือในฝัน" TITANIC มีความหมายว่า "เรือที่ไม่มีวันจม"  แต่กลับกลายเป็นพาหนะที่นำผู้คน กว่า 1,500 ชีวิต ไปพบจุดจบ ในทะเลน้ำแข็ง แถบแอตแลนติคเหนือ (North Atlantic) ช่วงใกล้รุ่ง ของวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912...



บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องจริง แห่งโศกนาฏกรรมการเดินทาง
ของเรือในฝันที่มีชื่อว่า “ไททานิค” ซึ่งมีความหมายว่า "เรือที่ไม่มีวันจม" 
กลายเป็นเรือสำราญมรณะ ที่โลกไม่มีวันลืม


เรือไททานิคนั้น เป็นเรือเดินสมุทรที่ขึ้นชื่อว่า มีขนาดใหญ่ที่สุด มั่นคงแข็งแรงที่สุด และ หรูหราที่สุดในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ทุกคนต่างก็เชื่อว่าไททานิคเป็น เรือที่ไม่มีวันจมแต่แล้วเหตุการณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะในการเดินเรือครั้งแรกของไททานิคได้ชนกับภูเขาน้ำแข็งจนถึงกับอับปางลง  และมีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากกว่า 1,500 คน 


ซากของเรือไททานิค ได้จมอยู่ก้นบึ้งของมหาสมุทรแอตแลนติคอย่างโดดเดี่ยวมานานหลายทศวรรษ จนกระทั่งเทคโนโลยีเรือดำน้ำค้นหามันพบในปี 1985 ทำให้ความเป็นมาของเรือสำราญ  "ไม่มีวันจม" ลำนี้ กลับมาเป็นที่กระหายใคร่รู้ของชาวโลกอีกครั้ง

สิบกว่าปีต่อมา ผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน หยิบยกชะตากรรมของเรือไททานิคมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในปี 1997 ที่กวาดรางวัลลูกโลกทองคำ  4 สาขา และรางวัลออสการ์อีก 11 สาขา ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดอันดับภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลถึง 12 ปีซ้อน และยังทำให้มีผู้ผลิตสารคดีเกี่ยวกับเรือไททานิคติดตามมาอีกนับไม่ถ้วน รวมถึงผู้กำกับฝีมือเยี่ยมอย่าง เจมส์ คาเมรอน ใช้ชื่อเรื่องว่า "Ghosts of the Abyss" 


ด้วยความที่เป็นผู้กำกับมืออาชีพที่ยอดเยี่ยม เจมส์ คาเมรอน นั้น มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เขาจึงต้องการที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกียวกับไททานิค ให้มากที่สุดเสียก่อน ก่อนที่จะเริ่มการถ่ายทำภาพยนตร์ จึงเกิดโปรเจ็กต์ย่อยขึ้น คือ การสำรวจซากที่เหลืออยู่ของเรือไททานิค เป็นขั้นแรกเพื่อให้เข้าใจในองค์ประกอบของเรือ และประวัติศาสตร์ของยุดสมัยต้นศตวรรษที่ 20 อย่างถ่องแท้ เพื่อมาใช้ในการถ่ายทำ และภายหลังจากไททานิคประสบความสำเร็จนั้น คาเมรอนจึงนำส่วนนี้มาเป็นภาพยนตร์แนวสารคดีที่ชื่อ Ghost of the Abyss ฉายตามโรง IMAX และก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน


RMS - TITANIC

RMS TITANIC ก่อนหน้าที่จะถึงยุคการเดินทางด้วยเครื่องบินเหมือนในปัจจุบัน การเดินทางจากทวีปยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกาจึงมีทางเดียวเท่านั้น คือ การเดินทางด้วยเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ดังนั้นกิจการเดินเรือจึงมีการแข่งขันกันสูงในช่วงนั้น สายการเดินเรือคิวนาร์ด  (Cunard Liner) ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไวต์สตาร์ไลน์ (ผู้ผลิต ไททานิค) ได้ต่อเรือใหม่ขึ้น 2 ลำ ใช้ชื่อว่า อาร์เอ็มเอส ลูซิทาเนีย (RMS Lusitania) ขึ้นในอู่ต่อเรือ John Brown ใน ค.ศ. 1907 และเรืออาร์เอ็มเอส มอริทาเนีย (RMS Mauretania) ที่ต่อขึ้นในอู่ต่อเรือ Tyneside ซึ่งได้ออกให้บริการในปีเดียวกัน เรือทั้ง  2 ลำ มีขนาดใหญ่กว่า 30,000 ตัน แล่นด้วยความเร็ว 24 นอต (44.448 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เป็นเรือแฝดรุ่นใหม่ของคูนาร์ด ล้ำหน้ากว่าเรือ 4 ลำ ของไวต์สตาร์ ทั้งด้านความเร็ว และขนาด

ดังนั้นสายการเดินเรือไวต์สตาร์จึงคิดที่จะสร้างเรือเดินสมุทรให้ยิ่งใหญ่ และหรูหรากว่าเรือคู่แฝดนั้นขึ้นมา ในรูปแบบเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ 3 ใบเถา (3 รุ่น) เน้นรูปแบบการบริการที่หรูหราเป็นหลัก โดยจัดสร้างขึ้นก่อน 2 ลำ นั่นคือเรือเดินสมุทรโอลิมปิก (OLYMPIC) และไททานิค (TITANIC) และจึงสร้างลำที่ 3 คือ ไจแกนติก (GIGANTIC) แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริแทนนิก (BRITANNIC) แทน   โดยลำแรกถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1908 ใช้ชื่อว่า RMS Olympic สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1911 มีขนาดใหญ่กว่าเรือ RMS Mauretania มากกว่า 40% ทำให้กลายเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก และต่อมา เรือลำที่สองในโครงการ ชื่ออาร์เอ็มเอส ไททานิค ที่สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1909-1911 โดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนดวูล์ฟฟ์ในเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ ประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้น  สร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1912 เรือไททานิคจึงกลายเป็นเรือโดยสารใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่เรือโอลิมปิก ณ ขณะนั้น
TITANIC and Olympic

ไททานิค เรือเดินสมุทรสุดหรู 

วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1911 เรือไททานิคถูกปล่อยลงน้ำเป็นครั้งแรก กลายเป็นพาหนะที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น มีความยาว 268 เมตร กว้าง 28 เมตร และความสูงวัดจากท้องเรือถึงสะพานเดินเรือ  (สะพานเดินเรือหมายถึงห้องควบคุมเรือที่อยู่บนดาดฟ้า) 30 เมตร พิธีปล่อยเรือถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้เข้าชมถึง 100,000 คน 

หลังจากใช้เวลาตกแต่งหลายเดือน ในที่สุด ไททานิค ก็กลายเป็นเรือเดินสมุทรสุดหรูหราอลังการงานสร้าง มีระวางเรือ 46,300 ตัน ใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก 1,000 ตัน บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือได้เต็มที่ถึง 3,547 คน มีเครื่องยนต์ที่มีพลังแรงถึง 46,000 แรงม้า ค่าก่อสร้าง 7,500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าตกแต่งอีก 2,500,000 ดอลลาร์ รวมเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบันจะเป็น 400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ


ไททานิค ได้เปิดศักราชใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร เนื่องจากเป็นเรือลำแรก ๆ ของโลกที่สร้างด้วยโลหะ และรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,435 คน ยาว 269.0622 เมตร กว้าง 28.194 เมตร ขนาดของเรือ 46,328 ตัน แบ่งเป็น 9 ชั้น เรียงจากชั้นบนลงชั้นล่างได้ดังนี้

ชั้นที่ 9. ดาดฟ้า สงวนไว้ให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีปล่องไฟ 4 ตัว สูงตัวละ 19 เมตร และห้องยิมเนเซียม
ชั้นที่ 8. ชั้น A ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด ห้องสูบบุหรี่ คาเฟ่ขนาดเล็ก และเนิร์สเซอรี่ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง
ชั้นที่ 7. ชั้น B ห้องอาหาร A La Carte ร้านกาแฟแบบปารีสของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และห้องสูบบุหรี่ผู้โดยสารชั้นสอง
ชั้นที่ 6. ชั้น C ห้องสมุดของผู้โดยสารชั้นสอง ห้องเอนกประสงค์ของผู้โดยสารชั้นสาม
ชั้นที่ 5. ชั้น D ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง
ชั้นที่ 4. ชั้น E ห้องนอนของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง สอง สาม ลูกเรือ
ชั้นที่ 3. ชั้น F ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นสาม
ชั้นที่ 2. ชั้น G สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำแบบตุรกี และห้องเก็บกระเป๋าเดินทาง
ชั้นที่ 1. (ชั้นล่างสุด) เป็นชั้นห้องเครื่อง มีท้้งหมด 16 ห้อง หม้อน้ำรวม 29 ชุด ส่งเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์ 3 ตัว เครื่องยนต์ 3 ตัว หมุนใบจักร 3 ใบ รวม 50,000 แรงม้า เร่งความเร็วเรือได้สูงสุด 23 น็อต (42.596 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ความเร็วมาตรฐาน 21 น็อต (38.892 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ห้องเครื่องทั้ง 16 ห้องมีกำแพงสูงถึงชั้น F และมีประตูกลซึ่งจะปิดลงมาทุกบานทั่วลำเรือ เมื่อพบเหตุผิดปกติที่ห้องเครื่องใดห้องเครื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าหากไม่เกิดรอยรั่วในหลายห้องเครื่องจนเกินไป ตามหลักการลอยตัวแล้ว เรือจะไม่จม ถึงแม้จะเป็นจุดอ่อนที่สุดของเรือซึ่งก็คือหัวเรือ ก็ยังสามารถรองรับรอยแตกได้ถึง 4 ห้องเครื่องติดกัน โดยที่เรือยังสามารถลอยตัวได้ และไม่จม ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแกร่งนี่เองจึงเป็นที่มาของคำว่า "เรือที่ไม่มีวันจม"

แม้ว่าเรือ "ไททานิค" จะมีคุณลักษณะความปลอดภัยที่ก้าวหน้า เช่น ห้องกันน้ำและประตูกันน้ำที่ทำงานด้วยรีโมต แต่ก็ยังขาดเรือชูชีพที่เพียงพอสำหรับบรรทุกผู้โดยสารทุกคนบนเรือ เนื่องจากระเบียบความปลอดภัยในทะเลที่ล้าสมัย จึงมีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสาร 1,178 คน (หนึ่งในสามของความจุผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเท่านั้น) คือมีเรือชูชีพเกินครึ่ง ของผู้ที่เดินทางไปกับเรือในเที่ยวแรกเพียงเล็กน้อย
การออกเดินทางเที่ยวแรก ... และเป็นเที่ยวสุดท้าย

วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 เรือ "อาร์เอ็มเอส ไททานิค" ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาท์แทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ โดยมุ่งหน้าไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้โดยสารในเที่ยวนั้นประกอบด้วยบุคคลชั้นสูงในวงสังคมของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก (โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นการเดินทางไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ) รวมทั้ง เจ. พี มอร์แกน เจ้าของไวต์สตาร์, เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้จัดการไวต์สตาร์ รวมทั้งยังมีโทมัส แอนดรูวส์ จูเนียร์ ผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือไททานิค เป็นวิศวกรอาวุโสของอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์ และวูลฟฟ์ (ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น)  แต่ต่อมามอร์แกนยกเลิกการเดินทางกะทันหันเนื่องจากล้มป่วย


กัปตันเรือไททานิค คือ เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ เขาเป็นกัปตันเรือที่เก่งกาจและมีค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น การเดินทางเที่ยวนี้จะเป็นเที่ยวสั่งลาในอาชีพกัปตันเรือเพราะหลังจากนั้นกัปตันสมิธก็จะเกษียณแล้ว
Captain Edward John Smith 

ในเช้าวันเดินทาง ตามกฎการเดินเรือ เจ้าหน้าที่ประจำเรือ จะต้องมีการฝึกซ้อมการใช้เรือชูชีพในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน การฝึกซ้อมในเช้านั้นทำขึ้นพอเป็นพิธีเท่านั้น ดังนั้นจึงมีลูกเรือมาฝึกซ้อมเพียงไม่กี่นาย ไททานิคถูกออกแบบมาให้มีเรือชูชีพถึง 32 ลำ แต่ถูกตัดออกเหลือเพียง 20 ลำ จุผู้โดยสารรวมกันได้เพียง 1,178 คนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเกะกะ และเห็นว่าเพียงพอแล้วตามกฎหมายการเดินเรือในยุคนั้น ที่กำหนดจำนวนเรือชูชีพตามน้ำหนักเรือเป็นเกณฑ์โดยไม่คำนึงถึงจำนวนผู้โดยสาร 


เรือไททานิค สามารถจุผู้โดยสารได้ 2,435 คน โดยแบ่งเป็น ชั้นสาม 1,026 คน , ชั้นสอง  674 คน และชั้นหนึ่ง 735 คน และลูกเรีออีก 892 คน รวมผู้โดยสารและลูกเรือ 3,327 คน แต่ถ้าในอนาคตสายการเดินเรือต้องการเพิ่มความจุผู้คน จะสามารถดัดแปลงเรือให้จุผู้โดยสารและลูกเรือได้มากขึ้นอีก 220 คน เป็น 3,547 คน  (ซึ่งยังไม่ได้รับการดัดแปลง) และในการเดินทางเที่ยวแรก มีผู้โดยสารประมาณ 2,208 คน แบ่งเป็นลูกเรือ 891 คน , ผู้โดยสารชั้นสาม 708 คน , ผู้โดยสารชั้นสอง  285 คน และผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 324 คน ส่วนเรือสำรองช่วยชีวิตหรือเรือบดนั้นเพียงพอสำหรับผู้โดยสารเพียง  1,178 คนเท่านั้น โดยจะแบ่งเป็น 20 ลำ ในจำนวนนี้ 14 ลำ จุได้ 65 คน, อีก 4 ลำ จุได้ 47 คน และอีก 2 ลำ จุได้ 40 คน


พนักงานประจำเรือ (ลูกเรือ) รวมทั้งสิ้น 891 คน ได้แก่
กัปตันเรือ : เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ : เฮนรี่ ทิงเกิล ไวด์
เจ้าหน้าที่ชั้นหนึ่ง : วิลเลียม แม็คมาสเตอร์ เมอร์ด็อก
เจ้าหน้าที่ชั้นสอง : ชาร์ลส์ เฮิร์บเบิร์ต ไลโทเลอร์
เจ้าหน้าที่ชั้นสาม : เฮิร์บเบิร์ต จอห์น พิตแมน
เจ้าหน้าที่ชั้นสี่ : โกร์ฟ โจเซฟ บ็อกซ์ฮอล
เจ้าหน้าที่ชั้นห้า : ฮาโรลด์ ก็อดเฟรย์ โลว์
เจ้าหน้าที่ชั้นหก : เจมส์ เพล มุดดี้
โดยรวมทั้ง สจ็วตชายและหญิง สาวใช้ บริกรชายและหญิง คนครัว แพทย์ กะลาสี ช่างไฟฟ้า ช่างน้ำมัน คนเติมถ่านหิน กรีเซอร์ ผู้ช่วยห้องเครื่อง ผู้ดูแลพื้นที่ผู้โดยสารหรือสัตว์เลี้ยง ผู้ดูแลอาหารและบัญชี เสมียน วงดนตรี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ผู้ควบคุมปั่นจั่น ผู้สังเกตการณ์บนเสากระโดงเรือ ซีแมน พนักงานประจำลิฟต์ พนักงานห้องซักล้าง พนักงานห้องวิทยุโทรเลข เป็นต้น
เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์บนเสากระโดงเรือ : กะก่อนเที่ยงวัน คือ ริชาร์ด ไซมอนส์ และ อาร์คิบัลด์ เจเวล ส่วนกะหลังเที่ยงวัน คือ เฟร็ดเดอริก ฟลีต และ เรจจิโนลด์ ลี
พนักงานประจำห้องวิทยุสื่อสาร : แจ็ค ฟิลลิปส์ และฮาโรลด ไบรด์ จากบริษัท มาร์โคนี เทเลกราฟ นิวยอร์ก


เมื่อออกจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน ไททานิคมุ่งหน้าไปยังเมืองแชร์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศสเพื่อแวะรับผู้โดยสาร จากการที่ท่าเรือค่อนข้างคับคั่ง เมื่อไททานิคอันเป็นเรือขนาดใหญ่มหึมา กำลังจะเคลื่อนตัวออกจากท่านั้น ทำให้มีน้ำกระเพื่อมมาก และเกิดแรงดูดอันมหาศาลดึงเรือที่อยู่ใกล้เคียงเข้าหาเรือไททานิค เรือ นิวยอร์ก ถูกกระแสน้ำดูดจนเกือบชนเรือไททานิคโดยห่างเพียงหนึ่งเมตรกว่าๆ เท่านั้นเอง โชคดีที่เบนเรือออกทัน อุบัติเหตุในครั้งนี้ก็เป็นสาเหตุเดียวกับที่เรือโอลิมปิกเกิดอุบัติเหตุชนกันจนต้องซ่อมใหญ่ก่อนหน้านี้นั่นเอง 


11 เมษายน ไททานิคแวะที่ท่าเรือเมืองควีนส์ทาวน์ในไอร์แลนด์ และในเวลา 13.30 น. ไททานิคก็ถอนสมอ และมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ใครจะทราบว่าเป็นการถอนสมอครั้งสุดท้ายของเรือไททานิคที่จะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ 


12 - 13 เมษายน ทะเลสงบและอากาศแจ่มใส การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้โดยสารบนเรือต่างรื่นเริงกับการเดินทางอันหรูหราในครั้งนี้ 


ไททานิคมีห้องชุด (suite) ระดับวีไอพีซึ่งมีดาดฟ้าชมทิวทัศน์ส่วนตัวถึง  2 ห้อง ค่าโดยสารชั้นวีไอพีนี้มีราคาสูงถึง 4,350 ดอลลาร์  (เที่ยวเดียว ที่จริงในสมัยนั้นคิดเป็นเงินปอนด์ แต่แปลงค่าเป็นเงินดอลลาร์อเมริกันเพราะให้สะดวกในการเปรียบเทียบ) คิดเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบันก็ตกราว 50,000 ดอลลาร์หรือประมาณ  250,000 บาท มีห้องชั้นหนึ่ง 67 ห้อง ราคา 150 ดอลลาร์ (ปัจจุบันราว 1,725 ดอลลาร์) ภายในห้องทั้ง 67 ห้องนี้มีการตกแต่งในสไตล์ต่าง ๆ กัน อาทิ แบบหลุยส์ แบบอิตาเลียน เรอเนซองส์ แบบดัตช์ ฯลฯ แถมบางห้องยังมีเตาผิงอีกด้วย

TITANIC’s Postcard

ผู้โดยสารบนเรือมีบรรดาบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เรือได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบาย และมีความหรูหราที่สุด โดยบนเรือมียิมเนเซียม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ภัตตาคารชั้นสูงและห้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีโทรเลขไร้สายทรงพลังซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร 
อีกทั้งยังมีสิ่งปรนเปรอความสุขอีกหลายอย่าง อาทิ เช่น มีห้องอบไอน้ำแบบตุรกี (Turkish Bath) มีลานสำหรับเล่นสควอชซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในยุคนั้น มีสระว่ายน้ำ (ถือเป็นสระว่ายน้ำในเรือแห่งแรกของโลก) มีห้องออกกำลังกาย ร้านตัดผม ห้องสมุด ฯลฯ คาเฟทีเรียในเรือมีการประดับประดาอย่างหรูหรารวมทั้งมีการนำต้นปาล์มจริงๆ มาประดับอีกด้วย ทำให้เรือเดินสมุทรลำนี้เป็นเรือสำราญที่หรูหรามากชนิดที่สายการเดินเรือคิวนาร์ดตามไม่ทัน 

บันไดแกรนด์อันหรูหรา บริเวณของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง


ไททานิค มีลิฟต์ 4 ตัว ในจำนวนนี้ 3 ตัว ถูกสงวนไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง อีก 1 ตัว มีไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นสอง ส่วนผู้โดยสารชั้นสามไม่มีสิทธิ์ใช้ลิฟต์  ภายในเรือไททานิค จะกั้นอาณาเขตไว้อย่างชัดเจนว่าบริเวณใดเป็นส่วนของผู้โดยสารชั้นใด และผู้โดยสารในเรือจะต้องอยู่ในบริเวณที่เป็นชั้นของตนเองเท่านั้น

บริเวณของผู้โดยสารชั้นหนึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้น A , B , C, D และบางส่วนของชั้น E ห้องพักแบบธรรมดายังมีการจัดระดับแยกอีก 2 แบบอีกด้วย คือ แบบห้องสวีท (ห้องชุด) บนชั้น B และ C ผู้โดยสารจะได้รับความหรูหรามากกว่าโรงแรมแทบทั้งหมดในอังกฤษหรือสหรัฐเมริกา ผู้โดยสารสามารถเลือกลักษณะห้องพักของตนได้ เพราะห้อง First Class ถูกเตรียมไว้ถึง 11 รูปแบบ ตั้งแต่สไตล์อิตาเลียนเรเนอซองส์, ดัตช์โบราณ , ดัตช์สมัยใหม่ , รีเจนซี่, อดัมส์, อิมพีเรียล, หลุยส์ที่ 14, หลุยส์ที่ 15, หลุยส์ที่ 16 ควีนแอน และจอร์เจียน นอกจากนี้ ยังมีการตกแต่งในรูปแบบพิเศษอีก 2 ที่ ออกแบบโดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟ์อีกด้วย โดยใช้ชื่อว่า Bedroom A ที่ดัดแปลงมาจากสไตล์ฝรั่งเศส ลดทอนรายละเอียดลง ใช้ผนังไม้โอ๊ค และ Bedroom B คล้ายรูปแบบอดัมส์ โดยผนังไม้ส่วนบนแกะสลักเรียบง่ายสีขาว ผนังไม้ส่วนล่างจากพื้น 3 ฟุตเป็นมะฮอกกานี

และห้องพักชั้นหนึ่งแบบธรรมดาจะมีการแตกแต่งแบบเรียบง่าย อีกทั้งขนาดห้องเล็กกว่า ซึ่งทุกห้อง ถูกผสมผสานเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ได้ลงตัวมาก ทุกห้องมีเทคโนโลยีทำความร้อนจากไฟฟ้าและหลอดไฟฟ้า โดยห้องพักแบบนี้พบตามชั้น A ถึง D และมากสุดชั้น E

ห้องรับแขก ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง

ห้องที่แพงที่สุดบนเรือ คือ แบบห้องชุดพิเศษ (Parlor Suite) ซึ่งในฤดูกาลท่องเที่ยว (High-Season) จะมีราคาสูงถึง 870 ปอนด์ (81,530 ปอนด์ หรือ 3,970,000 บาทในปัจจุบัน) คุณภาพที่ได้รับก็สมราคา เพราะผู้โดยสารที่ซื้อตั๋ว จะมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องนั่งเล่นพักผ่อนส่วนตัว ห้องแต่งตัว ห้องน้ำส่วนตัว โดยห้องพัก Millionair Suite บนเรือไททานิคมีอยู่ 4 ห้องโดย ห้องแรกบนชั้น B จะมีระเบียงชมทะเลส่วนตัวขนาดยาว 50 ฟุต และอีก 2 ห้องบนชั้น C

แม้เรือ ไททานิค จะถูกออกแบบมาให้เป็นเรือที่ใช้ในได้ในทุกฤดูกาลของปี แต่ทว่าการเดินทางในช่วงนี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะธารน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์จะละลาย ก่อให้เกิดภูเขาน้ำแข็งเคลื่อนตัวลงมาในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ และลอยตามกระแสน้ำในมหาสมุทรลงมาทางใต้


14 เมษายน ตามกำหนดการเดิม เช้าวันอาทิตย์ที่ 14 นี้จะต้องมีการซ้อมการใช้เรือชูชีพโดยมีผู้โดยสารร่วมฝึกซ้อมด้วย แต่การฝึกซ้อมได้ถูกยกเลิกไป 

แม้ในสมัยนั้นจะมีระบบโทรศัพท์เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่การติดต่อด้วยเสียงพูดระหว่างเรือหรือระหว่างเรือกับแผ่นดินยังไม่สามารถทำได้ ระบบที่มีอยู่ในตอนนั้นคือวิทยุโทรเลขซึ่งเป็นการส่งรหัสมอร์ส (Morse code) ด้วยคลื่นวิทยุ โดยในเรือแต่ละลำจะมีห้องวิทยุโทรเลขซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยรับส่งข้อความโดยเฉพาะเพราะต้องเป็นผู้ที่รู้จักรหัสมอร์ส

ห้องวิทยุโทรเลขมีไว้เพื่อบริการผู้โดยสารเป็นหลัก เจ้าหน้าที่วิทยุโทรเลขนี้ไม่ใช่พนักงานประจำเรือ แต่เป็นพนักงานของบริษัทมาร์โคนีซึ่งเป็นต้นตำรับในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข แม้แต่ใบโทรเลขในยุคนั้นที่จริงก็ไม่ได้เรียกว่า โทรเลข (telegram) แต่เรียกว่า มาร์โคนีแกรม (marconigram) อัตราค่าส่งวิทยุโทรเลขบนเรือไททานิกคิดเป็นเงิน 3.12 ดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 36 ดอลลาร์ในสมัยนี้ซึ่งนับว่าสูงเอาการ 

เนื่องจากไททานิคเป็นเรือขนาดใหญ่ จุผู้โดยสารได้มาก ดังนั้นปริมาณการใช้บริการส่งวิทยุโทรเลขก็ต้องมากเป็นธรรมดา พนักงานรับส่งวิทยุโทรเลข จึงต้องทำงานค่อนข้างหนัก เมื่อว่างเว้นจากงานบริการผู้โดยสารแล้ว จึงค่อยมาสะสางเรื่องการติดต่อเพื่อการเดินเรือ อีกทั้งในสมัยนั้นยังไม่มีขั้นตอนการนำส่งข้อความแก่กัปตันเรืออย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันแต่อย่างใดว่าข่าวสารจะถึงมือกัปตันหรือไม่ หรือถึงช้าเร็วเพียงใด 


เช้าวันที่ 14 เมษายน กัปตันสมิธ ได้สั่งเดินเครื่องเรือไททานิคเต็มที่ มีผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าเป็นไปตามความต้องการของ อิสเมย์ ผู้จัดการไวต์สตาร์ ที่ต้องการทำเวลาเพื่อให้ไปถึงนิวยอร์กก่อนกำหนด และเพื่อเป็นการลบสถิติที่เรือโอลิมปิก ซึ่งเป็นเรือพี่ในชุด 3 ใบเถานี้ เคยทำไว้ ไททานิคจึงแล่นด้วยความเร็วถึง 22.5 นอต (1 นอตคือ 1 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง, 1 ไมล์ทะเลหรือ Nautical Mile นี้เท่ากับ 1.85 กิโลเมตร) ซึ่งเกือบถึงความเร็วสูงสุดของเรือ (23 นอต)

และในวันเดียวกันนี้เอง ไททานิคได้รับวิทยุโทรเลขเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็ง ในเส้นทางเดินเรือถึง 7 ครั้ง จากเรือเดินสมุทรในสายแอตแลนติกเหนือ อาทิ จากเรือ อาร์เอ็มเอส แคโรเนีย (RMS Caronia), อาร์เอ็มเอส บอลติก, เอสเอส อเมริกา (SS Amerika), เอสเอส แคลิฟอร์เนียน (SS Californian) และ เอสเอส เมซาบา (SS Mesaba) ฯ  จนเมื่อเวลา 21.45 น. แม้ว่าเรือไททานิคจะได้รับวิทยุโทรเลขเตือนภัยอีกว่า มีภูเขาน้ำแข็งและน้ำแข็งกระจัดกระจายอยู่ในเส้นทางข้างหน้า แต่พนักงานวิทยุโทรเลขไม่ได้ส่งข้อความนั้นให้แก่กัปตันหรือเจ้าหน้าที่เรือคนใดเลย ทั้งนี้ เพราะมัวยุ่งอยู่กับการส่งวิทยุโทรเลขให้แก่ผู้โดยสาร


คืนวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 เวลา 22 นาฬิกา 45 นาที ขณะเดินทางอยู่ทางใต้ของแกรนด์แบงค์ของนิวฟันด์แลนด์  อุณหภูมิภายนอกเรือลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบถึงจุดเยือกแข็ง และน้ำทะเลรอบ ๆ ก็นิ่งลงจนแทบไม่มีคลื่นเลย แต่ก็ไม่มีใครในเรือที่รู้สึกถึงความผิดปกติ ผู้โดยสารที่อยู่บนดาดฟ้าก็กลับลงไปในเรือ และใช้ชีวิตต่อตามปกติ

เมื่อเวลา 22 นาฬิกา 50 นาที   ไททานิค ได้รับการแจ้งเตือนจากเรือแคลิฟอร์เนียน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ว่า... เรือ แคลิฟอร์เนียน ต้องหยุดเดินเรือ และจอดอยู่กับที่ เพราะถูกน้ำแข็งห้อมล้อม

สิ่งที่ควรทราบ คือ เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์นั้น เป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญมาก ปกติต้องว่าจ้างผู้ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษมาทำหน้าที่ ไม่ใช่ลูกเรือทั่วไปก็สามารถทำได้ และอุปกรณ์ที่สำคัญคือกล้องส่องทางไกล แต่ในการเดินทางของไททานิคเที่ยวนี้ เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ไม่มีกล้องส่องทางไกล เพราะหากล้องไม่พบ เนื่องจากมีการย้ายที่เก็บ รวมทั้งก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์คนหนึ่งได้เปรยขึ้นมาว่าได้กลิ่นน้ำแข็งที่โชยมาจากภูเขาน้ำแข็ง แต่เนื่องจากไม่มีกล้องส่องทางไกลจึงยังไม่เห็นสิ่งใด 
ภูเขาน้ำแข็งที่มองเห็นพ้นเหนือน้ำอาจแลดูเล็ก แต่ที่มองไม่เห็นอยู่ใต้น้ำนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก

23 นาฬิกา 39 นาที เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ 2 คน บนเสากระโดงเรือ ก็ได้มองเห็นว่ามีภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่อยู่ข้างหน้าเรือ ในระยะกระชั้นชิด คืออยู่ห่างออกไปราว 450 เมตร และส่งสัญญาณเตือนภัย เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัยเจ้าหน้าที่วิลเลียม เมอร์ด็อก ซึ่งอยู่เวรในขณะนั้นได้สั่งให้หยุดเรือ เดินเครื่องถอยหลัง และเบนเรือไปทางซ้าย แต่ทุกอย่างสายไปเสียแล้ว เพราะภายในเวลาประมาณ 40 วินาทีเท่านั้น เรือไททานิค ที่แล่นมาด้วยความเร็วสูง ได้พุ่งเข้าชนกับภูเขาน้ำแข็ง ทางกาบขวาด้านหัวเรือ  ณ ตำแหน่ง 41 องศา 46 ลิปดาเหนือ 50 องศา 14 ลิปดาตะวันตก


เวลา 23.50 น. กัปตันสมิธ ได้เชิญ ทอมัส แอนดรูวส์ วิศวกรผู้ออกแบบเรือไททานิค ให้ช่วยประเมินความเสียหายของเรือ โดยหลังจากที่คุณแอนดรูวส์ได้สำรวจท้องเรือแล้วแจ้งให้ทราบว่าเรือไททานิคมีห้องผนึกน้ำ16 ห้อง (Watertight Compartment เป็นปริมาตรในท้องเรือที่ถูกแบ่งซอยออกเป็นห้องๆ โดยมีประตูกั้นน้ำไว้ ทั้งนี้เพื่อว่า เมื่อเรือรั่วจะได้ท่วมเฉพาะห้องผนึกน้ำ เพียงห้องใดห้องหนึ่ง ไม่ท่วมไปทั้งลำเรือ ทำให้เรือไม่จม) หากน้ำรั่วเข้าเรือเพียง 4 ห้องก็ยังสามารถลอยเรืออยู่ได้ แต่ขณะนี้มีน้ำรั่วเข้ามาถึง 5 ห้องแล้ว ซึ่งวิศวกรบอกว่าหัวเรือเป็นจุดอ่อนที่สุดในเรือ ที่สามารถรับรอยแตกต่อเนื่องจากหัวเรือได้เพียงแค่ 4 ห้อง ไม่ใช่ 5 ห้องดังที่เป็น ดังนั้นน้ำจะท่วมห้องเครื่องทั้ง 5 และสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อท่วมมิดชั้น F เริ่มไหลขึ้นชั้น E น้ำก็จะล้นกำแพงกั้นน้ำเข้าท่วมห้องเครื่องที่ 6 และท่วมไปทีละห้องจนกระทั่งจมลงในที่สุด ดังนั้น เรือไททานิคกำลังจะจม จากหัวเรือก่อน โดยเหลือเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งแอนดรูวส์ประเมินว่า เรือทั้งลำกำลังจะจมลงภายในระยะเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น 


เที่ยงคืน กัปตันสมิธสั่งเจ้าหน้าที่วิทยุโทรเลข ให้ส่งสัญญาณซีคิวดี (CQD เป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ สัญญาณขอความช่วยเหลือที่ใช้ในสมัยนั้นมี 2 สัญญาณ คือ CQD และ SOS) และยิงพลุขอความช่วยเหลือ รวมทั้งสั่งให้ลูกเรือเตรียมเรือชูชีพให้พร้อม   น้ำเริ่มท่วมส่วนห้องพักของผู้โดยสารชั้นสาม ทำให้เริ่มเกิดข่าวลือว่าเรือกำลังจะจม แต่ผู้โดยสารส่วนมากยังไม่เชื่อ เพราะก่อนหน้านี้เรือไททานิค ได้โฆษณาว่าไม่มีวันจม  พนักงานได้ไปปลุกผู้โดยสาร ให้ผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพ และทำร่างกายให้อบอุ่น และไปที่ดาดฟ้า ทำให้ข่าวลือเรื่องเรือกำลังจะจมแพร่ไปทั่วเรือ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อ ส่วนใหญ่ยังดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างใจเย็น และเมื่อขึ้นไปที่ดาดฟ้า เจออากาศหนาวภายนอก ก็กลับเข้าไปข้างในอีก ในช่วงเวลานี้ ผู้โดยสารดูไม่ตื่นตัว และไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังจะพบนั้นเลวร้ายเพียงใด

เพราะว่าขาดการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉิน เหล่าลูกเรือจึงจัดผู้โดยสารขึ้นเรือชูชีพได้ไม่เร็วนัก อีกทั้งด้วยความไม่มั่นใจในความแข็งแรงของเสาเดวิต (davit เสาที่ห้อยเรือชูชีพไว้ เสานี้จะมีรอกเพื่อหย่อนเรือลงน้ำด้วย) จึงบรรทุกผู้โดยสารไม่เต็มลำเรือ เรือชูชีพลำแรกที่ถูกปล่อยลงทะเลมีผู้โดยสารเพียง 28 คนเท่านั้นจากที่บรรทุกได้เต็มที่ 65 คน! และนี่เองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้รอดชีวิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

15 เมษายน เวลา 00.25 น. ผู้โดยสารในเรือเกิดความโกลาหลวุ่นวายเพราะไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น กัปตันสมิธนั้นทราบดีว่าเรือชูชีพไม่พอที่จะช่วยผู้โดยสารทั้งหมดได้ จึงสั่งให้จัดสตรีและเด็กลงเรือก่อน ในขณะเดียวกัน เรืออาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย ของสายการเดินเรือคูนาร์ด (Cunard Line) รับสัญญาณขอความช่วยเหลือของไททานิคได้ และตอบกลับว่าอยู่ห่างจากเรือไททานิค 93 กิโลเมตร กำลังรีบมุ่งหน้ามาช่วยด้วยความเร็วเต็มพิกัด แต่เรือคาร์พาเธียจะไปถึงเรือไททานิคภายใน 4 ชั่วโมง ซึ่งนั่นไม่ทันต่อเหตุการณ์ เพราะเรือไททานิคจะลอยอยู่ได้ไม่ถึง 4 ชั่วโมงแน่ ดังนั้นผู้โดยสาร และลูกเรือ ไททานิค จึงต้องพึ่งตนเอง

เนื่องจากลูกเรือไม่รู้ว่าเรือสำรองจุผู้คนได้เท่าไร จึงปล่อยเรือบด ออกไป ทั้งที่ยังบรรจุคนได้ไม่เต็มที่ ทำให้แทนที่เรือสำรองจะช่วยชีวิตได้ 1,178 คนตามที่ถูกออกแบบ กลับรับผู้โดยสารมาเพียง 712 คนเท่านั้น  ยิ่งนาน เรือก็ยิ่งจมลงต่ำ ความโกลาหลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ทุกคนต่างก็ทะลักมาอยู่ที่ดาดฟ้าเรือเพื่อแย่งกันลงเรือชูชีพ เจ้าหน้าที่จึงปิดกั้นทางเดินของผู้โดยสารชั้น 3 ไว้ไม่ให้ขึ้นมาที่ดาดฟ้าเรือเพื่อลดความวุ่นวายบนดาดฟ้าเรือ รวมทั้งมีการใช้อาวุธปืนยิงผู้โดยสารเพื่อควบคุมสถานการณ์ด้วย 

1 นาฬิกา 25 นาที ในขณะที่เรือจมลงเรื่อย ๆ เหล่านักดนตรีได้แสดงสปิริตอย่างน่าสรรเสริญในหัวจิตหัวใจที่งดงาม และแข็งแกร่ง พวกเขายังคงเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลายความตื่นตระหนกของคนบนเรือตลอดเวลา จนห้องโถงด้านหัวเรือจมต่ำลง ก็ย้ายไปเล่นที่ด้านท้ายเรือ เพลงสุดท้ายที่บรรเลงเป็นเพลงช้าในชื่อ “Nearer My God To Thee” หรือแปลว่า “ใกล้ชิดพระเจ้า”  ซึ่งเป็นเพลงที่คริสต์ศาสนิกชนใช้ร้อง เพื่อแสดงความไว้อาลัย เหล่านักดนตรีได้บรรเลงเพลงขับกล่อมผู้คนบนเรือที่กำลังวิกฤติไปจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต 
เหล่านักดนตรี 8 คน บนเรือไททานิค

สถานการณ์วิกฤตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ภาพชีวิตบนเรือไททานิคในขณะนั้นมีหลากหลาย มีทั้งดิ้นรน ทั้งสิ้นหวัง ระคนกันไป แม้มีเงินมากมายเท่าใดก็ไม่อาจช่วยให้ตนรอดชีวิตได้ เมื่อถึงคราวคับขัน แต่ละคนก็แสดงธาตุแท้ของตนออกมา พวกผู้ชายที่คุมสติได้ก็พยายามยิ้มรับความตายอย่างอาจหาญ บางคนกลับไปแต่งชุดใหญ่เต็มยศเพื่อรอรับความตาย บางคนก็ไปนั่งถีบจักรยานอยู่กับที่ในห้องออกกำลังกายฆ่าเวลา สตรีบางคนปฏิเสธที่จะไปกับเรือชูชีพเพราะต้องการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีในยามวิกฤตของชีวิต ในขณะที่ชายบางคนกลับเอาผ้ามาคลุมศีรษะเพื่อพรางตัวเป็นสตรีและลงไปในเรือชูชีพเพื่อเอาตัวรอด 


2 นาฬิกา 5 นาที เรือสำรองทุกลำถูกปล่อยออกไปจนหมด แต่ยังเหลือคนมากกว่า 1,500 คนบนเรือไททานิค และท้ายเรือไททานิคเริ่มยกตัวสูงขึ้น เห็นใบจักรขับเคลื่อนลอยขึ้นมาอย่างชัดเจน เรือเอียงอย่างน่ากลัว บางคนถึงกับโดดลงมาจากเรือเพื่อหวังจะว่ายไปขึ้นเรือชูชีพด้านล่าง แต่ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนจะว่ายไปถึง เพราะในเวลานั้นเรือสำรองทุกลำพยายามออกห่างจากเรือไททานิคให้ไกลที่สุด เพราะไททานิคที่กำลังจมอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดแรงดูดของน้ำบริเวณใกล้ลำเรือซึ่งอาจจะดูดเรือสำรองจมลงไปด้วย และน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าวเย็นยะเยือกจนเกือบจะเป็นน้ำแข็ง ดังนั้น ผู้ที่ตัดสินใจในการโดดมาจากเรือไททานิค แล้วคิดว่ายไปขึ้นเรือสำรอง ส่วนใหญ่จึงถูกน้ำที่เย็นจัดทำให้แข็งตาย


2 นาฬิกา 18 นาที ระบบไฟฟ้าบนเรือหยุดทำงาน ไม่นานต่อมา เรือก็ขาดออกเป็นสองท่อน (จุดที่ฉีกขาดอยู่ระหว่างปล่องไฟปล่องที่ 3 กับปล่องที่ 4) แต่พื้นของชั้นล่างสุดยังไม่ขาดออกจากกัน การหักครั้งนี้ ทำให้ส่วนหัวเรือจมดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ดึงส่วนท้ายเรือขึ้นมา ส่งผลให้ส่วนท้ายเรือยกเกือบตั้งฉากกับพื้นน้ำ และเริ่มจมลงในแนวดิ่ง


2 นาฬิกา 20 นาที เรือไททานิคทั้งลำ ก็จมหายลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มีผู้โดยสารและลูกเรือจำนวนมากที่ลอยคออยู่ในน้ำอันเย็นยะเยือกด้วยเสื้อชูชีพ มีเรือบดบางลำพยายามจะเข้าไปช่วย แต่ก็ไม่กล้าเพราะเกรงว่า คนที่ลอยคออยู่ในน้ำจะแย่งกันขึ้นเรือสำรองเพื่อให้รอดพ้นจากน้ำอันเย็นจัด ซึ่งนั่นจะทำให้เรือสำรองถูกรุมจนจมลงไปด้วย จึงไม่กล้าที่จะย้อนกลับมารับผู้คนที่ยังรอดชีวิต ปล่อยให้ผู้ที่ลอยคออยู่ทยอยหนาวตายไปเรื่อย ๆ จนเหลือผู้รอดชีวิตน้อยลงทุกขณะ โดยที่มีเรือบดเพียงลำเดียวเท่านั้น ที่ย้อนกลับมาค้นหาผู้รอดชีวิต


3 นาฬิกาตรง เสียงหวีดร้องขอความช่วยเหลือก็เงียบสงบลง เพราะว่าผู้ที่ลอยคอส่วนใหญ่ได้หนาวตายไปหมดแล้ว รวมเป็นเวลา 40 นาที ที่ผู้ที่ลอยคออยู่ตายไปจนเกือบหมด   เรือสำรองที่เข้าไปช่วยเหลือ จึงนำผู้โดยสารที่ยังไม่เสียชีวิตขึ้นมาได้เพียง 14 คน ในสภาพที่หนาวสั่นทรมาน และในจำนวนนี้มีอีก 3 คนที่ทนสภาพที่หนาวเย็นไม่ไหวและได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา รวมแล้วเหลือผู้ที่รอดจากการถูกนำขึ้นมาจากน้ำเย็นเฉียบเพียง 11 คน

RMS Carpathia

4 นาฬิกา 10 นาที เรืออาร์เอ็มเอส คาร์พาเธียก็มาถึงที่เกิดเหตุ หลังจากที่เรือไททานิคจมไปแล้วกว่าหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเรือคาร์เพเทียใช้เวลาอยู่ ณ ที่เกิดเหตุจนถึง เวลา 8.50 น. จึงเริ่มออกเดินทางมุ่งสู่มหานครนิวยอร์ก โดยช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตจากเรือมรณะมาได้ 705 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่รอดชีวิตบนเรือบดทั้งหมด ในเช้าวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1912  เวลาประมาณ 9.00 น. เรือคาร์เพเทียก็ได้มาถึงนครนิวยอร์ก มีผู้ที่มารอที่ท่าเรือถึงหนึ่งแสนคนเพื่อรอฟังข่าวภัยพิบัติทางเรือครั้งร้ายแรงนี้


จากนั้น ทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ต่างพยายามสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติภัยครั้งนี้ รวมทั้งสรุปยอดผู้เสียชีวิต ซึ่งทำให้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกว่า ในคืนที่เกิดเหตุ เรือเดินสมุทรแคลิฟอร์เนียน ซึ่งอยู่ใกล้เรือไททานิคยิ่งกว่าเรือคาร์เพเทียเสียอีก แต่เหตุที่เรือแคลิฟอร์เนียนไม่ได้มาช่วยเหลือเพราะพนักงานวิทยุโทรเลขหลับจึงไม่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ

ผลจากการที่พนักงานวิทยุโทรเลขของเรือแคลิฟอร์เนียนหลับ เป็นเหตุให้ไม่สามารถช่วยลูกเรือ และผู้โดยสารของไททานิคได้ทัน จึงทำให้ต่อมามีการเพิ่มเติมกฎเกี่ยวกับการเดินเรือขึ้น นั่นคือเรือทุกลำต้องมีพนักงานวิทยุอยู่ประจำหน้าที่ตลอดเวลา และในปี ค.ศ. 1913 หน่วยเรือลาดตระเวนสำรวจภูเขาน้ำแข็ง ก็ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสำรวจเส้นทางและแจ้งเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็ง ในเส้นทางเดินเรือสายแอตแลนติกเหนือ

ภัยพิบัติของเรือ ไททานิค ครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตทั้งสิ้น 710 คน แต่มีผู้เสียชีวิต 1,514 คน นับเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรง ในประวัติศาสตร์การเดินเรือ

เจ. บรูซ อิสเมย์ กรรมการผู้จัดการของไวต์สตาร์ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างสงสัยกันว่า อิสเมย์รอดมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ผู้ชายส่วนใหญ่เสียชีวิตหมด เนื่องจากสละที่นั่งให้แก่สตรีและเด็ก ชีวิตในช่วงหลังของอิสเมย์ต้องล้มละลายทางเกียรติยศ เพราะสังคมตราหน้าว่าเขารอดมาได้เพราะแย่งที่ของสตรีและเด็ก บางคนก็พูดกันว่าอิสเมย์พรางตัวเป็นหญิงเพื่อลงเรือ แต่อิสเมย์ชี้แจงว่าตนลงเรือชูชีพลำสุดท้าย เมื่อเห็นยังมีที่ว่างจึงได้ลงเรือไปและก็ไม่ได้พรางตัวเป็นสตรีแต่อย่างใด

ภาพข่าวเรือไททานิค อัปปาง บนหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์


มอลลี บราวน์ (Molly Brown) ซึ่งเป็นพวกเศรษฐีใหม่ที่เดินทางไปกับเรือไททานิค เมื่ออยู่ในเรือชูชีพ นางบราวน์ได้แสดงความเข้มแข็งและกล้าหาญ ในสภาพที่ทุกคนหมดเรี่ยวแรง เธอได้แสดงบทบาทผู้นำโดยให้สั่งคนในเรือช่วยกันพายเรือมุ่งไปยังเรือคาร์เพเทีย และพยายามช่วยคนที่ตกน้ำ หลังจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ชีวิตของนางบราวน์ก็รุ่งเรืองขึ้น จากเดิมที่สังคมชั้นสูงในเมืองเดนเวอร์ไม่ยอมรับเธอ แต่จากวีรกรรมอันกล้าหาญทำให้เธอก้าวไปไกลถึงขนาดได้รับเสนอการชื่อให้เข้าชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาทีเดียว รวมทั้งยังมีผู้นำเรื่องราวของเธอไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ดี ในบั้นปลายของชีวิต เธอก็เปลี่ยนไปกลายเป็นคนที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว
มอลลี่ บราวน์ และกัปตันเรือคาร์พาเทีย


ไม่มีลูกเรือ ไททานิค คนใดที่รอดชีวิตจากเรืออัปปาง แล้วสามารถก้าวไปถึงตำแหน่งกัปตันเรือ


จากนั้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1985 ซากเรือไททานิคได้ถูกค้นพบ


เมื่อต้นปี ค.ศ. 1997 เอดิท ไฮส์แมน ผู้รอดชีวิตจากเรือไททานิคที่มีอายุมากที่สุด ได้เสียชีวิตลง เธออยู่ในเหตุการณ์เมื่ออายุ 15 ปีและเสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 100 ปี และผู้ที่รอดชีวิตรายสุดท้ายจากเหตุการณ์เรือไททานิคอับปาง คือ มิลล์วินา ดีน (Millvina Dean) ชาวอังกฤษ ซึ่งเธอได้เสียชีวิตลงเมื่อ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 รวมอายุได้ 97 ปี ซึ่งในขณะเกิดเหตุ เธอมีอายุเพียง 9 สัปดาห์เท่านั้น

หลังจากการอัปปางของเรือ TITANIC ทำให้เรือ OLYMPIC ต้องมีการปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อความปลอดภัยเป็นเวลา 6 เดือน เช่น การเพิ่มความแข็งแรงของส่วนล่างของเรือ และที่แน่นอน คือ การเพิ่มเรือชูชีพเข้าไปอีกด้วย 

ในปี 1914 (2 ปีกว่าหลังเรือ TITANIC จม) เรือโอลิมปิกได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นเรือรบเพื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และอยู่รอดจนจบสงคราม และถูกนำกับมาใช้เป็นเรือโดยสารเหมือนเดิมในปี 1920 ในกระทั่งในปี 1935 เรือได้เดินทางขนส่งผู้โดนสารเป็นเที่ยวสุดท้ายแล้วกลับเข้าอู่เรือในเมือง Southampton และถูกขายต่อให้บริษัทอุตสาหกรรมโลหะ และถูกแยกชิ้นส่วนในปี 1937 นับว่าเป็นเรือลำเดียวจากทั้งหมด ที่หมดอายุการใช้งานบนบก 

ส่วนเรือน้องเล็กสุดคือเรือ RMS/HMHS Britannic ถูกปล่อยลงทะเลในปี 1914 โดยคาดว่าจะใช้รับส่งผู้โดยสารเพื่อข้ามมหาสมุทร Atlantic แต่ก็เป็นแค่ความฝัน เพราะในตอนต้นปี 1915 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมา เลยทำให้เรือต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเรือพยาบาล (Hospital Ship) เดินทางในคาบสมุทร Mediterranean แทน เพื่อดูแลทหารที่บาดเจ็บที่ถูกส่งมารักษาบนเรือ แต่เป็นที่น่าเศร้าเพราะในปี 1916 เรือได้อัปปางลง เนื่องจากโดนทุ่นระเบิดจากเรือดำน้ำฝ่ายเยอรมัน ที่ยังหลงเหลือจากการกู้ระเบิดในเส้นทางดังกล่าว จึงส่งผลให้เรือเสียหายหนักและอัปปางลงในระยะเวลา 55 นาที หลังการเดินทางเพียง 6 ครั้ง เท่านั้น


เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเรือเดินสมุทร  R.M.S. TITANIC

*  R.M.S. ย่อมาจาก Royal Mail Steamer
*  มีการวัดขนาดเรือไททานิคได้ 882 ฟุต ซึ่งเป็นขนาดยาวที่สูงกว่าตึก ระฟ้า ในมหานครนิวยอร์ค ยุคนั้นเสียอีก
*  เฉพาะหางเสือเรือมีน้ำหนักถึง 101 ตัน ซึ่งเป็นน้ำหนักที่หนักกว่าเรือ Santa Maria ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส
*  มีอาหารอยู่บนเรือไททานิคประมาณ 100,000 ปอนด์
*  ราคาตั๋วชั้นเฟิร์สคลาส ประมาณ $3,100 ซึ่งตั๋วชั้นสามมีราคาเพียง $32
*  ห้องนั่งเล่นระดับเฟิร์สคลาส ออกแบบขึ้นจากพระราชวังแวร์ซายส์
*  ชุดโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นเฟิร์สคลาสมีราคาแพงสุดถึง $4,350  หรือเท่ากับ $75,000   ในราคาปัจจุบัน คิดเป็นเงินบาท คือ ประมาณ 2,500,000 บาท

กว่า 90% ของภาพยนตร์เรื่องไททานิค ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ของเรือเดินสมุทรไททานิค เมื่อปี 1912 ที่ผู้กำกับและทีมงานได้หยิบยกรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเรือ ที่ทีมงานได้ลงทุนสร้างเรือไททานิคจำลองขึ้น ให้เหมือนกับเรือไททานิคจริง ทุกประการ ตั้งแต่ขนาดของเรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ผู้คน ผู้โดยสาร ฯ รวมทั้งสาเหตุหลายประการ ที่ทำให้เรือในฝันที่ได้ชื่อว่าไม่มีวันจมอย่างไททานิคต้องอัปปางลง และรวมไปถึงบทของตัวละครหลาย ๆ คน ที่มีตัวตนอยู่จริง ยกเว้นเพียงบางอย่างที่เป็นเรื่องแต่งขึ้น เช่น บทของพระ-นาง คือ โรส กับ แจ็ค ที่ผู้กำกับเจมส์ คาเมรอนได้แต่งขึ้นมาเสริมความเป็นภาพยนตร์ เพื่อมิให้ภาพยนตร์ของเขากลายเป็นสารคดีไป

* เจมส์ คาเมรอน ดำน้ำลงไปดูซากไททานิคด้วยตัวเอง และเขาได้พบว่ามันเป็นประสบการณ์ที่สุดยอดมาก สุดท้ายเจมส์เลยใช้เวลาอยู่กับเรือ มากกว่าคนอื่นๆ เสียอีก


*ในต้นเดือนเมษายนปี ค.ศ. 2012 ไททานิคได้ถูกนำกลับมาฉายใหม่ในระบบภาพยนตร์รูปแบบสามมิติ และไอแมกซ์ ในวาระครอบรอบ 100 ปี ที่ไททานิคได้จมลง  รวมทั้งในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งก็รวมประเทศไทย ได้มีการจัดนิทรรศการร่วมรำลึก 100 ปี ไททานิค

* เพลงประกอบภาพยนตร์ - My Heart Will Go On ซึ่งประพันธ์โดยวิลล์ เจนนิง อำนวยเพลงโดยเจมส์ ฮอร์เนอร์ และวอลเตอร์ เอฟฟานาซีฟ ขับร้องโดยเซลีน ดิออน ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยได้รับการเปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุนานนับเดือน

กับทั้งยังส่งผลต่อฉบับลอกแบบอื่น ๆ ที่ตามอีกด้วย เช่น ฉบับบรรเลงโดย เคนนี จี หรือฉบับภาษาไทยที่มีผู้ลักลอบแปลและบันทึกเสียงออกจำหน่าย


ในฉากที่ต้องวาดภาพโรส จริงๆ คือฝีมือการวาดภาพของผู้กำกับคนเก่ง เจมส์ คาเมรอน มิใช่ฝีมือการวาดภาพของพ่อหนุ่มลีโอนาโด ดิคาปริโอ  แต่อย่างใด
คาเมรอน นั้นถนัดซ้าย ส่วนลีโอนาโด้ นั้นถนัดขวา เวลาถ่ายทำจึงต้องใช้ภาพสะท้อน


          * เป็นเรื่องบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ เมื่อเจมส์ คาเมรอน ได้เขียนบทของแจ็ค ดอว์สันเสร็จ แล้วเพิ่งได้รู้ว่ามีบุคคลที่มีชื่อคล้ายตัวละครของเขา คือ โจเซฟ ดอว์สัน ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง และเป็นหนึ่งในผู้โดยสารเรือไททานิคที่ได้ตายไปจริงๆ จากเหตุการณ์เรือล่มนั้น  โจเซฟ ดอว์สัน หลุมฝังศพของเขาได้รับการเข้าเยี่ยมมากที่สุดในสุสานที่ปาช้าในรัฐโนวาสโกเชีย

ทุกวันนี้หลุมศพของ J. Dawson จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องไปเสียแล้ว


*งานโปรดักชั่นที่ใหญ่ที่สุด คือ คาเมรอนต้องการสร้างเรือจำลองที่มีแบบและขนาดที่เทียบเท่ากับลำจริงของไททานิค เพื่อใช้ในการถ่ายทำ โดยที่ทางสตูดิโอต่างลงความเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง เพราะสามารถถ่ายฉากในเรือในส่วนต่าง ๆ ในสตูดิโอ และใช้ CG ปรับแต่งให้เหมือนจริงได้ แต่คาเมรอนปฏิเสธคำแนะนำ และใช้งบไปกว่าครึ่งในการสร้างเรือไททานิคจำลองขึ้น ที่อ่าวเม็กซิโกชายฝั่งอเมริกาซึ่งมีแบบ และขนาดเท่ากับไททานิคจริง เพื่อใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องไททานิคทั้งหมดของเรือ รวมทั้งนาทีมรณะ ซึ่งจะต้องทำออกมาให้สมจริงสมจังมากที่สุด จนในที่สุดขั้นตอนการถ่ายทำผ่านกล้อง Panavision ซึ่งเป็นกล้องที่คาเมรอนและเพื่อนร่วมกันพัฒนา โดยนำมาใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ไททานิคเป็นเรื่องแรก และต่อมาวงการฮอลลี้วู้ดก็ใช้บริการกล้องนี้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อยมา ด้วยสายตาที่เฉียบคมของคาเมรอนเอง

* แผ่นไม้ที่ช่วยชีวิตโรสในหนัง ถูกสร้างขึ้นเลียนแบบของจริงที่ถูกพบลอยอยู่ในทะเล และถูกแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Maritime เมือง Nova Scotia


ตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง ในเหตุการณ์เรือไททานิคอัปปาง ในปี ค.ศ.1912
โทมัส แอนดรูวส์ (Thomas Andrews)
วิศวกรอาวุโสของอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์และ "วูลฟฟ์" (Wolff)
ผู้ออกแบบ และควบคุมการต่อเรือไททานิค 
 นำแสดงโดยวิคเตอร์ การ์เบอร์ (Victor Garber)
แอนดรูวส์ชื่นชมเรือ "ไททานิค" ว่าเป็นเรือที่สมบรูณ์แบบที่สุดเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะทำได้
วิศวกรแอนดรูวส์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ลงเรือชูชีพ เพราะเขาไม่ต้องการมีชีวิตรอดเพื่อไปพบกับคำวิพากษ์วิจารณ์จนถึงสาบแช่งในภายหลัง เขาเลือกที่จะสละชีวิตโดยจมไปกับเรือที่เขาได้สร้างขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างกล้าหาญ โดยเลือกที่จะนั่งรอวาระสุดท้ายในห้องสูบบุหรี่ของผู้โดยสารชั้น 1


**โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay)
หุ้นส่วนผู้หนึ่งของสายการเดินเรือ ไวต์สตาร์ไลน์

ผู้ที่สั่งให้กัปตันสมิธ เดินเครื่องไททานิคเต็มที่ เพื่อต้องการทำลายสถิติ และสร้างประวัติศาสตร์เรือที่ดีที่สุดให้แก่ "ไททานิค"

นำแสดงโดยโจนาธาน ไฮด์ (Jonathan Hyde)
เจ บรูซ อิสเมย์ ได้พยายามเอาตัวรอดในขณะเรือจมจนถึงกับเอาผ้ามาคลุมศรีษะ อำพรางตัวเป็นสตรี เพื่อที่จะได้ลงไปยังเรือชูชีพ ซึ่งการกระทำนั้นดูเสมือนว่าเขาได้ไปแย่งที่นั่งของเด็ก และสตรีคนอื่นๆ ที่ยังรอโอกาสลงเรือบดเพื่อรอดชีวิต  แต่ "อิสเมย์" ได้แก้ต่างว่าเขาได้ลงเรือชูชีพลำสุดท้ายในที่ว่างที่เหลืออยู่ ทำให้การรอดชีวิตมาได้ของเขาต้องมีชีวิตอยู่อย่างล้มละลายทางเกียรติยศไปตลอดชีวิต จากการประณามหยามเหยียดของผู้คนที่ทราบเรื่อง


*เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ (Edward John Smith)
กัปตันเรือที่มีค่าตัวแพงที่สุด ด้วยประสบการณ์เดินเรือกว่า 26 ปี
และกำลังจะเกษียณอย่างสง่างาม ภายหลังจากเสร็จภารกิจการเดินทางเที่ยวแรกของ "ไททานิค"
รับบทโดย - เบอร์นาร์ด ฮิลล์ (Bernard Hill)
แต่กลายเป็นการเกษียณ ในรูปแบบที่เขา และคนอื่น ๆ ไม่ได้คาดคิดไว้
ส่วนหนึ่งเขาเองรู้สึกผิดที่ไม่สามารถนำพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมาย ทั้งที่เรือถูกออกแบบมาสมบูรณ์แบบที่สุดในโลก เพราะความประมาทจึงทำให้เขาสั่งเดินเครื่องไททานิคเต็มที่ตามที่ อิสเมย์ บอก ซึ่งเป็นการตัดสินใจผิดพลาด ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต
อีกทั้งไม่สามารถช่วยชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือได้ทั้งหมด เขาทราบดีว่าหลายชีวิตจะต้องตาย
เขาจึงแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ครั้งสุดท้าย ด้วยการจมไปกับเรือ ในฐานะ "กัปตัน"  


ภาพกัปตัน และลูกเรือ ไททานิค
*วิลเลียม เมอร์ดอช (William Murdoch) -  อีแวน สจวต (Ewan Stewart)
เจ้าหน้าที่เรือที่ใช้ปืนควบคุมสถานการณ์และยิงคนเสียชีวิต (ที่ฆ่าทอมมี ไรอัน ในภาพยนตร์)
และเขาได้ยิงตัวตายตามในเวลาถัดมา


*ฮาโรลด์ โลวอ์ (Harold Lowe) - ไอโอน กรัฟฟัดด์ (Ioan Gruffudd)
เจ้าหน้าที่เรือที่สั่งการให้นำเรือสำรองมาช่วยผู้โดยสารที่ลอยคอหลังเรือจม
*เจมส์ มูดดี (James Moody) เจ้าหน้าที่เรือที่รับแจ๊คและฟาบริซิโอขึ้นเรือ
และรับโทรศัพท์ในตอนที่ยามบนเสากระโดงพบภูเขาน้ำแข็ง


*มาร์กาเร็ต บราวน์ (Margaret Brown) - แสดงโดยเคธี เบตส์ (Kathy Bates)
Magaret Tobin Brown (มากาเร็ต โทบิน บราวน์) ฉายา มอลลี่ ผู้ไม่มีวันจม


*วอลเลซ ฮาร์ทลีย์ (Wallace Hartley) หัวหน้าวงออเคสตร้า - โจนาธาน อีแวน โจนส์ (Jonathan Evan-Jones)
หัวหน้าวงดนตรี และเป็นนักไวโอลินของวง  นามว่า วอลเลส เฮนรี่ ฮาร์ตลีย์ (Wallace Hartley) ได้รับการยกย่องอย่างมากในเกียรติยศ สมาธิ  ความกล้าหาญ และกล้าที่จะยอมรับความจริง  โดยฮาร์ตลีย์สามารถคุมวงดนตรีให้บรรเลงต่อไปจนวินาทีสุดท้ายก่อนที่พวกเขาทั้ง 8 คน จะจมหายไปกับเรือ  โดยเพลงสุดท้ายที่พวกเขาได้บรรเลงนั้น มีชื่อว่า “Nearer, My God, To Thee”  ซึ่งมีความหมายในทางปลอบประโลม และให้กำลังใจ ผู้ที่มีชีวิตเข้าใกล้ความตาย ซึ่งไม่ได้เป็นการไปสู่ความดับสูญ หากแต่เพียงพวกเขากำลังก้าวไปสู่อ้อมอกของพระเจ้า     
ภายหลังได้มีการพบร่างของ ฮาร์ตลีย์  โดยเรือแม็คเคย์-เบนเน็ตต์  เรือที่ใช้สำหรับวางสายโทรเลขใต้ทะเล  ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1912   ซึ่งเป็นเวลาเกือบเดือนนับจากเรือไททานิคจมลงสู่ท้องทะเล (เรือไททานิคจมลงในวันที่ 15 เมษายน 1912) ฮาร์ทลีย์ได้รับพิธีฝังและแห่ศพเยี่ยงวีรบุรุษ  โดยมีผู้ร่วมไว้อาลัยนับพันคนที่เมือง Lancashire ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ  และด้วยความความกล้าหาญของเขา ทำให้หลุมฝังศพในครั้งนั้นกลายมาเป็นอนุสรณ์สถานที่ที่ทุกคนต่างแวะมาเยี่ยม ชม ยกย่องและรำลึกถึง 


*คู่รักชราภาพที่นอนเคียงกันบนเตียงในห้องที่น้ำกำลังท่วม อุทิศให้ไอดาและไอซิเดอร์ สโตร๊ส เจ้าของห้างสรรพสินค้ามาซี่ ซึ่งตายบนเรือไททานิค
ไอดา และไอซิเดอร์ สโตร๊ส
ไอดาถูกส่งตัวไปยังเรือชูชีพแต่แล้วก็กลับลงมา เพราะเธอต้องการอยู่กับสามี
โดยเธอบอกว่า เราใช้ชีวิตมาด้วยกัน, ฉะนั้น เราก็ควรจะตายไปด้วยกัน
Ida-Isidor Straus สองคู่รักที่เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง Macy’s ก็มาเสียชีวิตภายในห้องที่โดนน้ำท่วมขังด้วยกัน ซึ่ง Ida จริงๆนั้นได้ถูกส่งตัวไปยังเรือชูชีพแล้ว แต่ด้วยความรักอันท่วมท้นที่มีให้กับ Isidor ทำให้เธอกลับมาหาสามีเพื่ออยู่ด้วยกันจนช่วงวินาทีสุดท้าย


ท  ตัวละครที่แต่งขึ้น (ไม่มีตัวตนจริงในเหตุการณ์ไททานิค ค.ศ.1912) ได้แก่
*แจ๊ค ดอว์สัน (Jack Dawson) - ลีโอนาโด ดิคาปริโอ
*โรส เดวิท บูเคเตอร์ (Rose DeWitt Bukater) - เคท วินสเลท (Kate Winslet)

*โรสตอนแก่ - กลอเรีย สจวต (Gloria Sturt),
กลอเรีย สจ๊วต (Gloria Stuart) เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1910 ที่เมืองซานตาโมนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย และเริ่มเป็นนักแสดงในขณะที่เรียนในมหาวิทยาลัย ก้าวเข้ามาสู่วงการมายาในฐานะนางเอกทรงเสน่ห์ในช่วงทศวรรษ 1930 ประสบความสำเร็จกับแสดงภาพยนตร์ของยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ มีผลงานมากมาย เช่น ''The Old Dark House'' , ''The Kiss Before the Mirror'' และ ''The Invisible Man'' และเธอเป็นนักวาดรูปที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย สจ๊วตมีทั้งผลงานละครเวที ทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ ออกผลงานหนังสือประวัติส่วนตัว I Just Kept Hoping และยังมีผลงานการแสดงออกมาอีกหลายเรื่อง บทคนรักของคล๊อด เรนส์ ในภาพยนตร์เรื่อง The Invisible Man รวมถึงการร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดัง วิม เวนเดอร์ส ในหนังเรื่อง The Million Dollar Hotel และ Land of Plenty ซึ่งเรื่องหลังนี่เอง ที่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ กลอเรีย สจ๊วต ผู้ทำงานในวงการภาพยนตร์มานับ 80 ปี 
  
แต่บทที่ทำให้เธอโดดเด่น และเป็นที่กล่าวถึงมาก ก็คือบท หญิงชราวัย 101 ปี ที่ชื่อโรส เดวิด บูเกเตอร์ จากภาพยนตร์ทำเงินเรื่อง TITANIC (1997) ที่ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม เป็นครั้งแรกและทำให้เธอเป็นนักแสดงที่อายุมากที่สุดที่เข้าชิงในสาขาการแสดง (ไม่รวมสาขารางวัลเกียรติยศ) จากบทบาทนี้เธอยังได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลแซกอวอร์ด ต่อมาได้ประทับชื่อลงบน ฮอลลีวูด วอล์ก ออฟ เฟม ในปี 2000 เธอเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) รวมอายุได้ 100 ปี ณ เบเวอร์ลี ฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เธอมีบุตรสาวหนึ่งคน หลาน 4 คน และเหลนอีก 12 คน


*เซลดอน นาธาน ฮ็อกลีย์ (Caledon Nathan Hockley) - บิลลี่ เซน (Billy Zane) คู่หมั้นโรส


รูธ เดวิท บูเคเตอร์ (Ruth Dewitt Bukater) - ฟรานเซส ฟิชเชอร์ (Frances Fisher) แม่ของโรส


*เลวิส โบดีน (Lewis Bodine) - เลวิส อเบอร์นาธี (Lewis Abernathy) เพื่อนของบร็อค เลิฟเว็ตต์


*ลิซซี คาลเวิร์ต (Lizzy Calvert) - ซูซี อมิส (Suzy Amis) หลานของโรส.
 
เธอเป็นภรรยาคนที่ 5 (คนปัจจุบัน) ของผู้กำกับชื่อดัง เจมส์ คาเมรอน ซึ่งคาเมรอนเคยมีภรรยามาแล้วทั้งหมด 4 คน
เจมส์ คาเมรอน และซูซี่ อมิส (ภรรยาคนปัจจุบัน)


*ทอมมี ไรอัน (Tommy Ryan) - เจสัน แบร์รี (Jason Barry) เพื่อนแจ๊ค


*ฟาบริซิโอ เดอ รอสซี (Fabrizio De Rossi) - แดนนี นุคคิ (Danny Nucci) เพื่อนแจ๊ค


*สไปเซอร์ เลิฟจอย (Spicer Lovejoy) - เดวิด วอร์เนอร์ (David Warner) คนรับใช้ของฮ๊อกลี่ย์


*บร็อค เลิฟเว็ตต์ (Brock Lovett) - บิลล์ แพ็กซ์ตัน (Bill Paxton) นักล่าสมบัติในซากเรือไททานิค

สำหรับคุณค่าทางประวัติศาสตร์โดยการถ่ายทอดในภาพยนตร์ "ไททานิค" นั้น นับเป็นศิลปะการเล่าเรื่องด้วยภาพอย่างประณีต และใช้ตัวละครกับเรื่องราวที่สร้างขึ้นแทรกซึมเข้าไปกับการไหลลื่นของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อย่างกลมกลืนและแนบเนียน แล้วยังเสริมความโดดเด่นของพฤติกรรมและเรื่องราวของบรรดาผู้โดยสารตอนเรือล่มได้อย่างน่าประทับใจ จน "ไททานิค" โดยผู้กำกับ "เจมส์ คาเมรอน" ได้เป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่มีเสน่ห์ และมีชีวิตชีวาอย่างที่สุดเรื่องหนึ่ง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการจมของไททานิคมาหลายเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องใดที่ได้รับความนิยมและอยู่ในความทรงจำได้ขนาดนี้


ล่าสุด นายไคลฟ์ พาล์มเมอร์ ชาวออสซี่ มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการเหมืองแร่ ประกาศเตรียมลงทุนสร้างเรือไททานิค 2 โดยเมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา นายพาล์มเมอร์ เผยว่า เขาได้ให้บริษัท ซีเอสซี หยินหลิง ชิพยาร์ด ของจีน ต่อเรือไททานิค 2 ให้เหมือนกับเรือต้นฉบับ แต่เรื่องเทคโนโลยีจะใช้ของสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ คาดว่าจะต่อเรือเสร็จในปี ค.ศ.2016


ในอนาคต หากเรือไททานิค 2 เสร็จสมบูรณ์ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,680 ราย แถมนายพาล์มเมอร์ ยังเตรียมแผนนำเรือล่องในเที่ยวปฐมฤกษ์จากอังกฤษสู่นครนิวยอร์กของสหรัฐ

ระหว่างการดำเนินการต่อเรือไททานิค 2 ก็ได้แต่หวังว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลกว่า 100 ปีที่แล้ว ผู้ผลิตจะสามารถต่อเรือให้ออกมาได้สมบูรณ์และมีความปลอดภัยสูง เพราะคงไม่มีใครอยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย



เรื่องย่อ . . .
TITANIC

เริ่มเรื่องขึ้น เมื่อมีการค้นพบซากเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่มหึมา "ไททานิค" ที่มหาสมุทรแอตแลนติคเหนือ ปี 1985 บร๊อค โลเวตนักสำรวจชาวอเมริกัน (บิล แพกซ์ตัน) ได้ดำลงไปสำรวจหาซากเรือ เพื่อหาสมบัติอันล้ำค่าของอดีตเรือที่หรูหรา เพียงเพื่อนำเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่าขานขึ้นมาบนบก ซากปรักหักพังอย่างน่าสลดสะท้อนถึงการรวมความประทับใจของเรือสำหรับช่วงการเตรียมมื้อกลางวันบนเรือที่ออกเดินทางเป็นครั้งแรกจากประเทศอังกฤษ

       แต่กลับได้พบภาพวาดลายเส้น รูปหญิงสาวเปลือยกายที่สวม สร้อยคอและจี้เพชร The Heart of the Ocean เท่านั้น 

ผู้ที่เป็นแบบในภาพวาดก็คือโรส เดวิตต์ บูเคเตอร์  (เคท วินสเล็ต เจ้าของรางวัล Academy Award) สาวอเมริกันชนชั้นสูง (วัย 17 ปีในภาพ) และเธอได้เล่าเหตุการณ์ย้อนหลังไป 84 ปี เมื่อ ค.ศ.1912 ให้ทุกคนฟัง

โรส เดวิท บูเคเตอร์ สาวงาม ผู้มีความอึดอัดภายใต้สังคมชั้นสูง ที่มีแต่ความคาดหวังอย่างเข้มงวดในสังคมยุคเอ็ดเวิร์ด ได้เดินทางมากับเรือไททานิคพร้อมแม่ และคู่หมั้นหนุ่ม "คาล ฮ๊อคลี่ย์" มหาเศรษฐีผู้เย่อหยิ่ง และเอาแต่ใจตัวเอง ทั้งคู่จะเข้าพิธีแต่งงานกัน เมื่อเดินทางถึงฟิลลาเดลเฟีย 


โรส อึดอัดใจที่ถูกบีบบังคับ ทนรับชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย และถูกบีบคั้นไม่ไหว ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เธอวิ่งไปที่ท้ายเรือคิดจะฆ่าตัวตาย แต่แล้วโรสก็พบกับ แจ๊ค (Leonado Dicaprio) ชายหนุ่มยากไร้ ผู้มีชีวิตเป็นอิสระ ได้เห็นเหตุการณ์ และเขาได้ช่วยชีวิตเธอไว้ทันท่วงที 


คาล ฮ๊อคลี่ย์ได้ตอบแทนแจ๊ค ด้วยการชวนขึ้นไปร่วมดินเนอร์กับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง แจ๊คโดนเยาะเย้นถากถางในระหว่างดินเนอร์ แต่เขาก็ตอบได้อย่างชาญฉลาดและเป็นตัวของเขาเอง ทำให้โรสประทับใจตัวแจ๊คมากขึ้น แจ๊คพาเธอไปรู้จักชีวิตอีกด้านที่เป็นอิสระของเขา สาวน้อยได้รับในสิ่งที่เธอขาดมาตลอด นั่นคือเความเป็นอิสระในการได้ทำทุกอย่างที่ใจต้องการ โรสใช้ชีวิตที่สนุกสนานในส่วนของผู้โดยสารชั้นสาม 


ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคู่หมั้นหนุ่มเลวร้ายลง แต่ในขณะที่ความสัมพันธ์ของเธอกับแจ๊คได้ก่อตัวขึ้นจากความประทับใจ และกลายเป็นความรักที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ สร้างความริษยาให้กับ ฮ๊อคลี่ย์ จนตัดสินใจใส่ร้ายแจ๊ค และจับไปคุมขังที่ใต้ท้องเรือ ในคืนนั้น Titanic ก็พบกับความหายนะเมื่อ พุ่งเข้าชนภูเขาน้ำแข็ง จนบริเวณใต้ท้องเรือเกิดความเสียหายจนไม่สามารถแก้ไขได้ 

ความโกลาหลวุ่นวายได้เกิดขึ้น เพราะทุกชีวิตต่างดิ้นรนที่จะเอาตัวรอด ในที่สุดเรือ TITANIC ที่ยิ่งใหญ่ และเคยถูกเชื่อว่าไม่มีวันจม ก็ดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลลึกพร้อมผู้โดยสารอีกเกือบ 1,500 ชีวิต ... ในขณะที่แจ๊คและโรสกำลังลอยอยู่กลางมหาสมุทรอันหนาวเย็น ท่ามกลางความมืด และความฝันที่กำลังสูญสิ้น


โดยทั้งหมดผ่านการเล่าเรื่องจากโรสในวัยชรา ผู้โดยสารไททานิคที่รอดชีวิตคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่  (แสดงโดยกลอเรีย สจ๊วต) เรื่องราวเกิดขึ้นกับเธอ กรอบจารีต ประเพณี ที่เคร่งครัด ตามแบบฉบับ ของสังคม สมัยเอ็ดเวิร์ด (Edwardian Society) เธอตกหลุมรัก กับ แจ็ค ดอว์สัน (Jack Dawson รับบทโดย ลีโอนาร์โด้ ดีแค็ปปริโอ้ - Leonardo DiCaprio) ชายหนุ่มผู้รักอิสระ เสรี ที่ได้ร่วมโดยสาร มาด้วยตั๋ว ชั้นถูกที่สุด เมื่อเขาเชื้อเชิญ ให้เธอ ออกจากกรงทอง มาสัมผัสโลกกว้าง อันสวยงาม


     ความรักต้องห้าม ระหว่าง โรส กับ แจ็ค นั้นเป็นจุดเริ่มต้น ของเรื่องราว ปริศนา ที่ยังคงก้องกังวาน จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และในวันนี้เอง ที่คณะกู้ซากเรือ TITANIC ซึ่ง บร็อค โลเวต (Brock Lovett รับบทโดย บิล แพ็กซ์ตั้น - Bill Paxton) เป็นหัวหน้า ผู้มุ่งแต่การค้นหาสมบัติอันล้ำค่าในเรืออับปาง แต่กลับค้นพบ เรื่องราวความรักอันลึกซึ้งยิ่งใหญ่ ของเขาและเธอ


H.1





H.2




Ref :
  
Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. Movies HD Online - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger